วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อันตราย...

ปลูกถ่ายอวัยวะ
Mthai News : สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ในกรุงไทเป ของไต้หวัน นำอวัยวะ จากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (เชื้อเอดส์) ซึ่งได้รับการบริจาค ปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยถึง 5 ราย
        โดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและบอกว่าขณะนี้ผู้ป่วย  ที่ได้รับอวัยวะของผู้ติดเชื้อ กำลังได้รับยาต้านเชื้อเอชไอวีแล้วและได้โพสข้อความชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาล เมื่อสุดสัปดาห์ว่า ความผิดพลาดเกิดจาก เจ้าหน้าที่ทั้งสองสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์ จากคำว่า “มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อเอชไอวี” เป็นคำว่า “ไม่มีปฏิกิริยา” โดยไม่มีการตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งอื่นซ้ำอีกรอบตามที่ขั้นตอนกำหนด 
ทั้งนี้ ผู้บริจาคอวัยวะเป็นชายวัย 37 ปี ในเมืองซินฉู่ ล้มป่วยถึงขั้นโคม่าเมื่อวันที่ 24 ส.ค. โดยหัวใจ ตับ ปอด และไตสองข้าง ของเขาได้รับการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย 4 รายของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันและผู้ป่วยอีก 1 ราย จากโรงพยาบาลอื่น โดยที่ครอบครัวของผู้บริจาค ไม่รู้ว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี (เชื้อเอดส์) ซึ่งขณะนี้แพทย์และพยาบาลที่ร่วมทำการปลูกถ่ายอวัยวะเริ่มแสดงความกังวลว่าพวกเขาอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีด้วยก็เป็นได้    อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเข้าตรวจสอบเรื่องนี้และจะตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการลงโทษต่อโรงพยาบาลอย่างไร ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีและทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน อาจต้องถูกสั่งห้ามทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนาน 1 ปี


ปลอดภัยไว้ก่อน

กรมวิทย์ฯ เตือนระวัง “ขวดน้ำพลาสติก” ใช้ซ้ำ เสี่ยงเชื้อโรค

           กรุงเทพฯ 30 ส.ค.- กรมวิทย์ฯ เตือนประชาชนหากนำขวดน้ำพลาสติกมาใช้ใหม่ต้องล้างทำความสะอาด หมั่นสังเกตว่าสีของขวดพลาสติก หากมีคราบสีเหลืองหรือมีสีขุ่น ขวดบุบ มีรอยร้าวหรือแตก ไม่ควรนำมาใช้ใหม่ เนื่องจากอาจมีสารเคมีในเนื้อพลาสติกหลุดลอกลงในน้ำดื่มได้ ขณะเดียวกันเป็นแหล่งสะสมและปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
           นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายจังหวัด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หากจำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเปล่าที่ใช้แล้วมากักตุนน้ำไว้สำหรับดื่มและใช้ในช่วงน้ำท่วม บางครั้งไม่ได้มีการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากที่มีการดื่มน้ำจากขวดโดยตรงได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลการทดลองยืนยันว่าขวดพลาสติกหรือขวดเพทปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ต้องล้างขวดให้สะอาด ทั้งด้านในและด้านนอก และเมื่อใช้ไปนาน ๆ ต้องหมั่นสังเกตว่าสีของขวดเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม หรือขวดบุบ มีรอยร้าวหรือแตกให้ทิ้งไม่ควรนำมาใช้ใหม่
          อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์ฯ ได้ทำการวิจัยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดอยู่เสมอ หากพบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะมีการแจ้งข้อมูล ข่าวสารให้ผู้บริโภคทราบ และจะมีการประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในด้านของการควบคุมทางกฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจสอบความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารแก่ประกอบการและผู้ที่สนใจด้วย
          ด้านนายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (สคอ.)กรมวิทย์ฯ กล่าวว่า พลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม ขนาดเล็กมีอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น สำหรับขวดบรรจุน้ำชนิดเติม ซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20 ลิตร ขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติกชนิด PP (พอลิพรอ พิลีน) และขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อนทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) หรือพลาสติกชนิด PET ดังนั้น ขวดเหล่านี้ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้ใหม่ และขวดที่บรรจุน้ำควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพื่อป้องกันการเจริญของตะไคร่น้ำ.-สำนักข่าวไทย